ชาวปะหล่อง....บนดอยอ่างขาง

 ปะหล่อง อ่างขาง
             จากเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับกล่าวว่า ชาวปะหล่องเป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี  ชาวปะหล่องจะเรียกตัวเองว่า Ta-ang   ส่วนคำว่า  ปะหล่อง  มาจากภาษาไทใหญ่ ไทใหญ่บางกลุ่มเรียก "คุณลอย" หมายถึง คนดอย ส่วนชาว พม่าเรียก  ปะลวง  ชาวปะหล่องส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐชาน รัฐคะฉิ่นในพม่า และยูนนานในประเทศจีน ชาว ปะหล่องในประเทศไทยอพยพมาจากพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2527 เรียกตัวเองว่า ดาระอั้ง  (Da-ang, ra-rang, ta-ang)  ชาวปะหล่องจะอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มี 4 หมู่บ้านคือ บ้านนอแล บ้านห้วยหมากเหลี่ยม บ้านสวนชา อำเภอฝาง และบ้านปางแดง อำเภอ เชียงดาว

                ในเรื่องของการแต่งกายของหญิงสาวชาวปะหล่องถือเป็นเอกลักษณ์ของเผ่า กล่าวคือ การสวมห่วงหวายลงรักแกะลาย หรือใช้เส้นหวายเล็กๆ ย้อมสีถักเป็น ลาย บางคนก็ใช้โลหะ สีเงินลักษณะ เหมือนแผ่นสังกะสีนำมาตัดเป็นแถบยาวตอกลาย และขดเป็นวงสวมใส่ปนกัน  ชาวปะหล่องจะเรียกห่วง ที่สวมเอวนี้ว่า หน่องว่อง  หญิงชาวปะหล่องจะสวมหน่องว่องตลอดเวลา ด้วยความเชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นลูกหลานนางฟ้า โดยมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีนางฟ้าชื่อ   หรอยเงิน ได้ลงมายังโลกมนุษย์ แต่โชคร้ายไปติดเร้ว ของพวก มูเซอ ทำให้กลับสวรรค์ไม่ได้ ต้องอยู่ในโลกมนุษย์และเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์หลายกลุ่มชาวปะหล่องเชื่อกันว่า พวกตนเป็นลูกหลานของนางหรอยเงิน ดังนั้นจึงต้องสวมหน่องว่องซึ่งเปรียบเสมือนเร้วดักสัตว์ไว้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงนางฟ้าหรอยเงินตลอดเวลา ชาวปะหล่องเชื่อกันว่า การสวมหน่องว่องจะทำให้เกิดความสุขเมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ หากถอดออกจะทำให้สิ่งไม่เป็นมงคลเข้าครอบงำ

            ในเรื่องของความเชื่อนั้น ชาวปะหล่องมีความเชื่อเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา โดยเชื่อว่า วิญญาณมีอยู่ 2 ระดับคือ ระดับหนึ่งเรียกว่า  กาบู เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต และ กานำ เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ ภูเขา และเชื่อว่าแต่ละคนจะมีวิญญาณ 2 ระดับ นี้ให้ความคุ้มครองอยู่ ในหมู่บ้านปะหล่อง จะมี ศาล เจ้าที่ "ดะมูเมิ้ง" เป็น ที่สิงสถิตของวิญญาณที่คุ้มครองหมู่บ้าน บริเวณศาล เจ้าที่จะอยู่เหนือ หมู่บ้าน มีรั้วล้อมรอบ จะมีพิธีทำบุญบูชาเจ้าที่ ปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงก่อน เข้าพรรษาและช่วงก่อนออก พรรษา พิธีบูชาผีเจ้าที่ก่อนเข้าพรรษา เรียกว่า เฮี้ยงกะน่ำ เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ว่าในช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้าน จะไม่มี การ ล่วงประเวณีกัน หรือมีการแต่งงานกัน จากนั้นจึงทำพิธีปิดประตูศาลผีหรือ"กะปิ๊สะเมิง" เมื่อใกล้จะออกพรรษาก็จะทำพิธีเปิดประตูศาลผีเจ้าที่หรือ วะสะเมิง เพื่อเป็นบอกกล่าวว่าช่วงฤดูแห่งการ แต่งงานใกล้จะ มาถึงแล้ว ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมาร่วมในพิธี โดยการนำไก่ต้มสับมาเป็นชิ้นๆ เอาไปรวมกันที่ศาลผีเจ้าที่ จากนั้นจะมีผู้ประกอบพิธีกรรมเรียกว่า ด่าย่าน เป็นผู้ทำการบอกกล่าว แก่ผีเจ้าที่

ภาพสวย ๆ ...hotsia.com และข้อมูดดี ๆ ....baanmaha.com